ปัดฝุ่น นิทานพื้นบ้าน
นิทานพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องเล่าที่สืบทอดต่อๆ กันมา เช่น นิทานจักรๆวงศ์ๆ นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานอธิบายเหตุ นิทานเรื่องสัตว์ นิทานเรื่องผี มุขตลกนิทานเรื่องโม้ นิทานเข้าแบบ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาพื้นบ้าน
เมื่อได้กลับไปอ่านนิทานพื้นบ้านศรีธนญชัย บางตอน เช่นตอนเด็กไปอยู่วัด ค่ะ ตอนเด็กจำว่าชอบเรื่องของศรีธนญชัยมากเพราะอ่านสนุกน่าติดตาม
นิทานศรีธนญชัยมีมาแต่โบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับต้นกำเนิด สมัยที่แต่ง และชื่อผู้แต่ง วรรณกรรมเรื่องนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดเรื่องหนึ่งในท้องถิ่นต่างๆ ของไทยตราบถึงปัจจุบัน ภาคกลางและภาคใต้รู้จักกันในชื่อ “ศรีธนญชัย” ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรู้จักกันในชื่อ “เชียงเมี่ยง” นิทานศรีธนญชัยปรากฏว่ามีหลายสำนวน โดยมีลักษณะร่วมกันในด้านโครงเรื่อง คือ เหตุการณ์แต่ละตอน ในชีวิตของชายผู้หนึ่งตั้งแต่วัยเด็กจนสิ้นอายุขัย มักใช้ปฏิภาณไหวพริบเอาตัวรอดหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้ผ่านพ้นไปได้โดยลำดับ มีลักษณะเป็นเรื่องสั้นๆ ซึ่งสามารถหยิบยกมาเล่าแยกกันได้
คำว่า ศรีธนญชัย นัยยะที่คนไทยทั่วไปจะรู้ทันทีว่าหมายถึง คนมีปฏิภาณเป็นยอด มีไหวพริบเป็นเยี่ยม แต่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นร้อยเล่มเกวียนจนยากที่ใครจะรู้เท่าทัน
วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอความเจ้าปัญญาของตัวเอกในลักษณะที่คาดไม่ถึง หรือพลิกความคาดหมายได้ และแสดงพลังทางภาษาด้วยการนำเอาถ้อยคำ สำนวนมาเล่นคำ เล่นความหมายได้ตามความต้องการ ซึ่งนอกจากจะใช้ความเถรตรงแล้ว ยังใช้กลวิธีอื่นๆ อีก เช่น การใช้กลอุบายการใช้จิตวิทยา และการหาเหตุผลโดยการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่ปกติไม่ค่อยมีใครนำมาสัมพันธ์กัน หรือโดยการมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับคนอื่นมาแก้ไขปัญหาหรือเอาตัวรอดได้ แสดงให้เห็นภูมิปัญญาและพลังทางปัญญาในการสร้างสรรค์ อันกอปรด้วยศิลปะของการถ่ายทอดเรื่องราวที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน
นิทานศรีธนญชัยนั้น มิได้มีคุณค่าด้านการให้ความบันเทิงหรือสนุกสนานเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าที่ให้สาระด้านความคิดด้วย คือเรื่องความสำคัญของการใช้ปัญญา ปฏิภาณไหวพริบ เรื่องความขัดแย้งกับบุคคลและความขัดแย้งกับค่านิยมของสังคม และเรื่อง “เสียหน้า” โดยได้นำสภาพแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมไทยมาสอดแทรกไว้ในเนื้อหาได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้ แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมเกี่ยวกับความไม่เที่ยงที่ว่า เหนือฟ้ายังมีฟ้า จึงไม่มีผู้ใดจะครองความเป็นผู้ชนะได้ตลอดกาล ดังนั้น ควรใช้ปัญญาไปในทางสร้างสรรค์มากกว่าการนำมาแสดงความสามารถที่เห็นแก่ตนเองหรือไประรานผู้อื่นๆได้
ลองหาอ่านกันค่ะ
- ดาวพฤหัสบดี ๕ ในตำแหน่งอุจจ์ โดยดาว๕ มาจากเจ้าเรือนภพมรณะและปุตตะ หากแต่ ดาว๕อยู่เรือนวินาศน์ การใช้ปัญญาจึงเน้นการพลิกแพลงไม่ค่อยคำนึงถึงศีลธรรม
- ดาวเจ้าเรือนลัคน์คือดาวอาทิตย์ ๑ อยู่ตำแหน่งพันธุเรือนของอังคารซึ่งอังคาร ๓ มากุมลัคน์หมายถึงมารดาของศรีธนญชัยมีอิทธิพลเหนือตัว และการที่เป็นดาวอังคาร๓มากุมลัคน์ทำให้เป็นคนบุ่มบ่าม,หรือกล้าได้กล้าเสีย,ชอบทำอะไรแผลงๆ
-ดาวพุธ๔และดาวศุกร์๖เป็นโยคหน้า จึงชอบสนุกสนาน รื่นเริงมีเพื่อนฝูงเยอะ
-ดาวราหู๘ กุมเรือนอังคารศุภะเป็นตรีโกณฑ์กับอังคารที่กุมลัคน์ทำให้เป็นคนที่ว่องไว ราหู๘ เองส่งกระแสถึง พุธ ๔และ ๖ที่เป็นเกษตรในเรือนสหัชชะ จึงมักคิดอะไรฉับพลันทันคน ไหวพริบ ฉลาด แก้สถานการณ์ หรือพลิกแพลงเก่ง
- ดาวเสาร์๗ นั้นเป็นศูนย์พาหะมาจากเรือนอริเดิม เมื่อมาอยู่เรือนพุธซึ่งในลัคนามีดาวอังคาร๓ มักจะพูดจาให้คนเจ็บใจ มักจะมีเหตุทุกข์โศกเกิดเนื่องๆ
- ดาวจันทร์๒ ที่เป็นโยค มาจากภพวินาสน์ และเป็นพินทุบาทว์ แก่ราหู (ดวงชาตาที่มีดาวจันทร์เป็นสิบเอ็ดแก่ราหู ให้นับจากราหูทวนเข็มนาฬิกาไป ๑๑ ราศีแล้วมีจันทร์สถิตอยู่ จึงจะถูกตำราไม่ใช่นับจากราหูทวนเข็มนาฬิกาไป ๓ ราศีแล้วมีดาวจันทร์อยู่เป็นพินทุบาทว์ และนับจากราหูไป ๑๑ ราศีมีดาวจันทร์เรียกว่า " ราหูล่าจันทร์ " )ความเป็นพินทุบาทว์นั้นทำให้ราหูหรือจันทร์เสีย ในลักษณะ หูเบา, ใจง่าย,ใจอ่อน, ขี้สงสาร, ชอบช่วยเหลือคนโดยปราศจากเหตุผล และเดือดร้อนเพราะความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เนืองๆ, มีหนี้สิน,หรือ ถูกโกง
นิทานศรีธนญชัยจึงยังเป็นที่ชื่นชอบ เพราะ “มุกตลก”สามารถทำให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับเรื่องราวที่อยู่ในโลกสมมุติได้อย่างเต็มที่ เสียงหัวเราะอันเกิดจากความหฤหรรษ์ในการล้อเลียนเสียดสีบุคคล นิทานศรีธนญชัยจึงถือเป็นภูมิปัญญาของความคิดสร้างสรรค์ที่มีคุณค่ายิ่งเป็นมรดก ภูมิปัญญาของวัฒนธรรมไทย
ขอบคุณที่ติดตามค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น