มาตรฐานดวงอุจจ์

มาตรฐานดวงอุจจ์ exaltation

เรื่องของความเป็นอุจจ์ ในภาษาอังกฤษเรียก exaltation เคยเขียนสั้นๆในหลายเรื่องค่ะ โดยเรื่อง             ความเป็นอุจจ์ของดาวต่างๆ ก็พูดถึงองศา อุจจ์ 

โคลงกลอนของดาวเข้าอุจจ์

          สุรเมษพฤกษเจ้า       จันทร์อุจ เอี่ยมเอย

กรกฎรกันย์พุธ    ผ่องด้าว

ตุลเสาร์ส่วนราหุจ  เลอพิจิกเจิดแฮ

ภุมม์มกรศุกร์ท้าว   เทิดเบื้องมินเฉลิม

พอดีเห็นน่าสนใจค่ะจากตำราของ อ.จำรัส ศิริ จึงขออนุญาตนำมาเขียนให้ผู้สนใจเรื่องโหราศาสตร์ได้อ่านกัน ค่ะ

คำว่าอุจจ์หรืออุฒม์ มีที่มาจากการที่โลกเดินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มีอยู่สองตำแหน่งในรอบหนึ่งคือ เมื่ออาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษ-ตุลย์ คือในเดือนมีนาคมและเมษายนครั้งหนึ่ง และในเดือนกันยายน-ตุลาคมอีกครั้งหนึ่ง ต่อจากนั้นก็จะเริ่มห่างออกไป และตำแหน่งที่ห่างออก ก็จะอยู่เมื่อโลกโคจรอยู่ในราศี กรกฏและมังกร และจากราศีเมษ ทางหน้าและหลังโลกยังเดินไม่ห่าง สันนิษฐานจาการวางดาวพระเคราะห์ชิดกับราศีเมษและตุลย์ เป็นอุจน่าจะเป็นเหตุผล คือแปลว่าสูงได้ คือโลกเดินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 

ส่วนราศีกรกฎ-มังกรเป็นระยะที่โลกเพิ่งโคจรห่างดวงอาทิตย์ และอยู่ในราศีแม่ธาตุ(ทวารราศี) ในตำราอื่นก็ไม่ปรากฏว่าวางอยู่ระหว่างที่มีเส้นห่างเป็นมุมเยื้อง ๖๐ องศา จากราศีเมษและตุลย์ และหมุนเอาขั้วเข้าหาและห่างออกในราศีเมถุน-สิงห์-ธนู-กุมภ์ จึงไม่มีดาวพระเคราะห์ในตำแหน่งอุจที่เห็นชัดๆ คือบรมอาจารย์ได้วางเสาร์ไว้ราศีตุลย์และอาทิตย์วางไว้ราศีเมษ เพราะดาวคู่นี้เป็นดาวธาตุไฟตามกฏ  

ส่วนประเด็นอื่น ข้อพิจารณาคือคำนึงถึง สัปตเกณฑ์และเรื่องของคู่ธาตุ คู่สมพลมาพิจารณาแล้ว ในการเล็งจะได้พระเคราะห์คู่เหมือนกัน คือ คู่อาทิตย์และเสาร์คู่ธาตุไฟ พุธและศุกร์คู่ธาตุน้ำ พฤหัสบดีคู่อังคารเป็นคู่สมพล ราหูและจันทร์คู่สมพล 

โดยปกติพระเคราะห์อุจแม้องค์เดียวในตำราทั่วๆไปถือว่าเป็นคุณแก่เจ้าขะตา โดยการพิจาณณานั้นเพราะพระเคราะห์อุจไม่ใช่เจ้าเรือนเกษตร จึงต้องพิจารณาต่อว่า เป็นอุจเจ้าเรือนใด เช่นลัคนาราศีเมษ อังคารเป็นอุจในราศีมังกร เจ้าเรือนมรณะเป็นอุจและเป็นองค์เกณฑ์ (ที่นำเอาเจ้าเรือนมาอ่านเพราะกำลังอยู่ในซีกกลางวัน)  ดังนั้นต้องพิจารณา ว่าดาวเคราะห์เป็นอุจถ้าไม่อยู่เรือน อริ-มรณะ-วินาสน์-เป็นกาลกิณีหรือกาลกรรณี-ไม่เป็นเกณฑ์แก่ดาวคราะห์เป็นประ-นิจ-เจ้าเรือนอริ-มรณะ-วินาสน์-กาลกิณี จึงถือเป็นดาวที่บริสุทธิ์ให้คุณตามเรือนและตำแหน่งที่ปรากฎ ตำราโลกธาตุ จึงกล่าว " ดาวเคราะห์เป็นมหาอุจ ถ้าบริสุทธิ์ก็ให้คุณแก่เจ้าชะตาดีนัก " ตำราว่า จึงต้องตีความคำว่าบริสุทธิ์ ให้ชัดเจน ในแง่:

๑.อุจเป็นดาวที่ทรงคุณ เพราะมีอิทธิพลของดาวและธาตุส่งให้เรือนนั้นมีความเคลื่อนไหวแรงขึ้น            หากมีดาวพระเคราะห์มากุมเป็นเจ้าเรือน อริ-มรณะ-วินาสนะ ในข้อสังเกตคือทำให้ดาวเคราะห์นั้นไม่        ให้คุณตามตำราอ้างและจะยิ่งแสดงผลเสื่อมจำอำนาจของดาวเคราะห์ที่เข้ากุมกันด้วย                          หากสัมพันธ์กันทางเกณฑ์โยค-ตรีเกณฑ์-เล็งกับดาวเคราะห์ที่เป็นกาลกิณี

๒,หลักเก่าของโลกธาตุ กล่าวว่า ดวงชะตาผู้ใดเช่นดาวพระเคราะห์เป็นดาวอุจ เป็นเดชเป็นศรีมนตรี ท่านว่าดีนัก ถ้าเป็นกาลกิณีร้ายนัก เช่นวาสนาไม่มีขึ้น ถึงจะขึ้นก็ฝีดเต็มที ถ้าดาวพระเคราะห์อะไรไม่อุปถัมภ์ก็ยิ่งลงหนัก เว้นแต่กาลกิณีเป็นอริ-มรณะ-วินาศนะแก่ลัคนา หรือแก่ตนุเศษจึงให้โทษน้อยแล 

๓.เรื่องของความหมาย   โดยทั่วไปตามสถิติของความเป็นอุจ หรือในตำราต่างๆโดยสรุป

อาทิตย์ได้อุจ เด่นในทางราชการและอำนาจยศศักดิ์

จันทรได้อุจเด่น ในทางการสาธารณประโยชน์มีเสน่ห์ความนิยม

อังคารได้อุจ เด่นในวิธีการปราบปรามเช่นตำรวจหรือทหาร

พุธได้อุจ เด่นในเชิงศิลแห่งการพูดการประพันธ์

พฤหัสได้อุจ เด่นในทางเป็นอาจารย์ผู้สอน ปรัชญา ผู้ทรงคุณวุฒิมากด้วยปัญญา

ศุกร์ได้อุจ เด่นในทางศิลปทางการตกแต่งอันวิจิตรศิลป ทางศิลปินการค้า

เสาร์ได้อุจ เด่นในการกสิกรรม ในทางช่างกลอุตสาหกรรม

ราหูได้อุจ เด่นในทางอันธพาล

เกตุได้อุจ เกร็ดว่าจะเป็นขุนนางมีความสุขมาก  เกตุเป็นอุจคืออยู่ในช่องว่างราศีที่๒,๔,๘,๑๐

สำหรับความหมายในโลกธาตุสำหรับพระเคราะห์อุจนั้น อ.จำรัส ศิริ เป็นผู้แปลความหมายด้านหลังของแต่ละดาวเคราะห์จากภาษามคธภาษามคธ(อาจจะขาดบ้าง ) 

รวิอุจฺโจ มหาโภโค  อาทิตย์เป็นอุจมีโภคสมบัติมาก   

สสิอุจฺโจ มหาสุขํ   จันทร์เป็นอุจมีความสุขมาก

ภุมฺมอุจฺโจ มหาโภโค อังคารเป็นอุจ มีโภคสมบัติเยอะ

พุธุจฺโจ สุขวุฑฺฒิ จ พุธได้อุจมีความรู้และความสุข

ครุอุจฺโจ มหทฺธโน พฤหัสบดีเป็นอุจ มั่งมีทรัพย์สิน

สุกรอุจฺโจ อมจฺจโก หาเติมมาจาก ตำราโหรา่ศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกร คือพระศุกร์เป็นอุจจะได้เป็นอำมาตย์

โสรีอุจฺโจ มหาปญฺโญ เสาร์เป็นอุจมีปัญญามาก

- ราหุจฺโจ โภคสมฺปติฯหาเติมมาจาก ตำราโหรา่ศาสตร์ของหลวงวิศาลดรุณกร คือพระราหูเป็นอุจจะมีโภคสมบัติ

โดยสรุป นั้น ความหมายโดยรวมของดาวเป็นมหาอุจแต่ละดวงคือ

อาทิตย์เป็นมหาอุจ  มีทรัพย์ ชนะศัตรู มิตรดี ความรู้มาก มีวาสนา พึ่งญาติได้

จันทร์เป็นมหาอุจ มีทรัพย์ เป็นที่รักแก่มหาชน อายุยืน ลูกหลานมาก

อังคารเป็นมหาอุจ กล้าโวหาร โทโสร้ายหายเร็ว มีชื่อเสียงรบชนะ

พุธเป็นมหาอุจ รูปงาม มีทรัพย์ มีสุข มีความรู้ ,ลูกเมียบริวารมาก

พฤหัสบดีเป็นมหาอุจ มีปัญญา คนเกลียดน้อย เพราะมีกำลังทำไมตรีทำแต่คุณประโยชน์ให้                      จะไปไหนย่อมมีลาภ ผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์รักใคร่มาก

ศุกร์เป็นมหาอุจ มีทรัพย์รู้ธรรม เรียบร้อย

เสาร์หรือราหูเป็นอุจ แรงด้วยโภคสมบัติ ใจกร้าวกล้าแข็ง มีอำนาจวาสนา มีลูกดีสมใจ ชนะศัตรูอายุยืน 

ในตำราโลกธาตุกล่าวต่อไปว่า มีอาทิตย์เป็นอุจจะมีข้าชายมาก มีจันทร์เป็นอุจจะมีปัญญามากมีทรัพย์มากกว่าญาติสองเท่า  มีอังคารเป็นอุจจะเป็นทหารเอกประจญข้าศึกชนะแล้วจะได้ลูกสาวท้าวพระยา พุธเป็นอุจจะได้เมียดีๆมาก พฤหัสบดีเป็ฯอุจจะเป็นโหราจารย์หรือเสนาบดี นอกนั้นเหมือนกัน

๔.ในหนังสือโลกธาตุ ยังมีพูดว่าดาวเคราะห์ทั้งแปดจะทราบว่าเป็นอุจหรือไม่ ต้องขับชะตากำเนิดเสียก่อนท่านสนใจอาจหาอ่านได้  อาจารย์จำรัส ศิริ ตั้งข้อสังเกตุว่ามีความไม่ตรงกันสำหรับดวงชะตาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากปฏิทินโหราศาสตร์ของหลวงอรรถวาทีธรรมประวรรตก้บในโลกธาตุ เพราะไม่ทราบว่าอาจารย์ใดวางและมีความถูกต้องหรือไม่ เพราะจากโลกธาตุนั้น จะได้ดาวอุจทั้งแปดองค์ ซึ่งแตกต่างจากดวงชะตาจากปฏิทินโหราศาสตร์ของหลวงอรรถวาทีธรรมประวรรต 

การขับดวงชะตา นั้น มีวิธีการ ว่าเอาศักราชกำเนิดตั้งลงเอา๑๒ หาร เอาเศษตั้งแปดฐานตามลำดับเอาเกณฑ์พระเคราะห์บวกตามลำดับเป็นพระเคราะห์เอา ๑๒ หารทุกฐาน ดูเศษแล้วนับแต่หลังพระเคราะห์นั้นไปตามเศษ วางพระเคราะห์ลงเท่าเศษทุกองค์ 

ขยายความเรื่องขับดวงชะตาจากตำราอาจารย์เทพ สาริกบุตร การขับดวงชะตาจะใช้จุลศักราช และตั้งเกณฑ์พระเคราะห์ รวมถึงในเรื่องข้อมูลดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหลายแหล่งอ้างอิง และมีรูปดวงต่างๆกันค่ะ ไว้จะมาเขียนอีกบทความหนึ่งต่างหากค่ะ  

คำทำนายสำหรับจำนวนของอุจมาก-น้อย มีดังนี้ 

เอกอุจฺโจ สัมมาทิฎฐิ  มีอุจ ๑ อุจ ตั้งอยู่ในสัมมาทิฎฐิ

ทวิอุจฺโจ จ ณฺฑิโต มีอุจ ๒  อุจ เป็นนักปราชญ์ผู้รู้ธรรม

ตริอุจฺโจ จ มหามจฺโจ  มีอุจ ๓  อุจ  เป็นมหาอำมาตย์

จตุอุจฺโจ  จ ตฺติโย  มีอุจ ๔  อุจ เป็นกษัตริย์

ปญอุจฺโจ จักกวัตติ  มีอุจ ๕ อุจ  เป็นจักรพรรดิ

ฉฬุจฺโจ อรหา สิยา  มีอุจ ๖  อุจ เป็นพระอรหันต์

สตตุจฺโจ เจกพุทฺโธ   มีอุจ ๗  อุจ เป็นพระปัจเจกโพธิสัตว์

อฏฐจฺโจ ภควา ชิโน  มีอุจ๘  อุจ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตำราว่าถ้ามีครบ ๘ องค์ ได้ถึงสัมมาสัมพุธเจ้า คำว่า ๑ อุจเท่ากับหนึ่งองค์ ๒ อุจคือ ๒ องค์ ดังนี้เป้นตัวอย่างเหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาการเป็นบาปเคราะห์(อาทิตย์-อังคาร-เสาร์-ราหู) หรือศุภเคราะห์(จันทร์-พุธ-พฤหัส-ศุกร์) ถือจากตำแหน่งของลัคนา  มีข้อสังเกตุดังนี้คือ

๑.หากบาปเคราะห์เป็นห้าแก่ลัคนา ชะตาที่ได้อุจอย่าทำนายดีทั้งหมด 

๒.ศุภเคราะห์ 

ถ้าเป็น๖,๘,๑๒แก่ลัคนา ชะตามีอุจก็ยังไม่ให้คุณเต็มทีให้ทอนเสียครึ่งหนึ่งหรือจะทรงคุณแต่ก็อาจมีส่วนเสียเข้ามาประกอบด้วย

ในโลกธาตุ นั้นหากผู้ใดมีดาวพระเคราะห์ประจำวันเกิดตนเนื่องด้วยลัคนา  หากเป็น ศุกร์ เป็น ๗   หาก จันทร์ หรือ พฤหัส เป็น ๘  หรือ พุธเป็น ๙ แก่ลัคนา แม้เป็นมหาอุจ ก็เชื่อว่านิจว่าชะตาแตก 

ในวิธีการทั้งสองแบบนั้นของตำราอาจารย์ จำรัส ศิริ ว่าใช้หลักทางเรือนและทางสัมพันธ์ของบาปเคราะห์ถึงลัคนาย่อมเสีย ศุภเคราะห์เสียในเรือน อริ-มรณะ-วินาสน์ เท่ากับปิดกั้นกุศลกรรมไม่ให้มาอยู่แล้ว

เรื่ององศาที่เป็นอุจนั้น อาจารย์ออกความเห็นว่าท่านไม่ได้ใช้แต่ได้เพิ่มเติม เรื่องทาง ภารตว่ามีการกำหนดองศา เช่นกันสำหรับพระเคราะห์ที่เป็นมหาอุจ มีองศาดังนี้ 

อาทิตย์ ๒๐ องศาในราศีเมษ

จันทร์ ๓ องศา ในราศีพฤษภ

อังคาร ๒๘ องศาในราศีมังกร

พุธ ๑๕ องศาในราศีกันย์ 

พฤหัสบดี ๕  องศาในราศีกรกฎ

ศุกร์ ๒๗ องศาในราศีมีน

เสาร์ ๒๐ องศาในราศีตุลย์

ราหูในราศีพฤษภ  (ทางภารตะวางไว้ราศีพฤษภ ของไทยวางไว้ราศีพิจิก)

เกตุในราศีพิจิก  สองอันหลังไม่มีองศา  (เกตุไทย วางไว้ราศีเมถุน-สิงห์-ธนู-กุมภ์ เพราะเกตุเป็นวิญญาณธาตุ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง #อานุภาพของเกตุไทย ๙ )



  • ขอบคุณที่อ่านและกดติดตามในบล็อก https://zodietcwise.blogspot.com
  • เป็นเพื่อนและกดถูกใจใน FB #zodietcwise 
  • ฝากกดติดตาม IG: https://www.instagram.com/zodietcwise/
  • สนใจดูดวงนัดติดต่อ Inbox มาได้เลยจ้า หรือ เชิญปรึกษาดวงชะตาติดต่อได้ทาง                                         ไลน์ LINE https://line.me/ti/p/DxUHcrL7-M
  • ขอบคุณข้อมูล :
  • ขอบคุณวิชาโหราศาสตร์
  • ข้อมูลตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์, ตำราโลกธาตุ
  • ข้อมูลจากตำราอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร,
  • ข้อมูลอาจารย์ศ.ดุสิต,                                
  • ข้อมูลตำราอาจารย์พลูหลวง,
  • ข้อมูลตำราอาจารย์เล็ก พลูโต,
  • ข้อมูลตำราอาจารย์จำรัส ศิริ,อาจารย์อักษร ไพบูลย์,และอาจารย์ประภาพร เลาหรัตนเวทย์
  • รวมทั้งหลายท่านอาจารย์และบรมครูโหราศาสตร์ที่ได้เอ่ยนามแล้วและไม่ได้เอ่ยนามด้วยความเคารพอย่างสูงไว้ณที่นี้





  • ความคิดเห็น