บ๊ะจ่าง

 วันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีฉลู

ดาวอาทิตย์จรยกเข้าราศีมิถุน เป็นตำแหน่งราชาโชค ส่วนจันทร์จรเข้าราศีสิงห์ เรือนของอาทิตย์

เทศกาลไหว้บ๊ะจ่างค่ะ คือ วัน๕ค่ำเดือน๕ วันที่๑๔มิถุนายนค่ะ เป็นการระลึกถึงวันที่ คุดก้วน หรือ ชีว์หยวน หรือ ชีหยวน (จีน: 屈原, Qu Yuan (340-278 ปีก่อนคริสต์ศักราช) กวีผู้รักชาติแห่งรัฐฉู่ กระโดดน้ำเสียชีวิต

ประวัติคือ ชีหยวนได้รับราชการเป็นขุนนางในสมัยพระเจ้าฉู่หวายอ๋อง เป็นที่ปรึกษา และดูแลเหล่าเชื้อพระวงศ์ ชีหยวนเป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์ และเปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถอันสูงยิ่ง เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าฉู่หวายอ๋องเป็นอันมาก

เมื่อมีคนรักย่อมต้องมีคนชังเป็นเรื่องธรรมดา เหล่าขุนนางกังฉินทั้งหลายต่างก็ไม่พอใจชีหยวน ด้วยความที่ชีหยวนนั้นเป็นคนที่ซื่อตรง ทำงานอย่างตรงไปตรงมา จึงมีหลายครั้งที่การทำงานของชีหยวนเป็นไปเพื่อการขัดขวางการโกงกินบ้านโกงกินเมืองของขุนนางกังฉินเหล่านั้น พวกเขาจึงรวมหัวกันพยายามใส่ไคล้ชีหยวนต่างๆ นานา จนพระเจ้าฉู่หวายอ๋องเองก็ชักเริ่มมีใจเอนเอียง ชีหยวนรู้สึกทุกข์ระทมตรมใจมาก จึงได้แต่งกลอนขึ้นเพื่อคลายความทุกข์ใจ กลอนบทนั้นมีชื่อว่า "หลีเซา" หมายถึงความเศร้าโศก

จนต่อมาพระเจ้าฉู่หวายอ๋องถูกกลลวงของแคว้นฉิน และสวรรคตในแคว้นฉิน รัชทายาทของฉู่หวายอ๋องจึงได้ขึ้นครองราชบัลลังก์แทนหลังจากที่กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงหลงเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉินพวกนั้น ในที่สุดจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เนรเทศชีหยวนออกจากแคว้นฉู่ไป

ชีหยวนเศร้าโศกเสียใจมาก หลังจากเดินทางรอนแรมมาถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำราว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ชีหยวนจึงได้ตัดสินใจกระโดดน้ำตายในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 นั้นเอง การตายของชีหยวน ทำให้เกิด เป็นที่มาของประเพณีการแข่งเรือมังกร และประเพณีการไหว้ขนมจั้ง (บ๊ะจ่าง) ดังที่จะได้เล่าต่อไปค่ะ

พวกชาวบ้านที่รู้เรื่องการตายของชีหยวน พวกเขาต่างก็รัก และอาลัยในตัวของชีหยวน จึงได้ออกเรือเพื่อตามหาศพของชีหยวน ในขณะที่ค้นหาศพ พวกเขาก็เตรียมข้าวปลาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำด้วย นัยว่าเพื่อล่อให้สัตว์น้ำมากิน จะได้ไม่ไปกัดกินซากศพของชีหยวน หลังจากนั้นทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบวันตายของชีหยวน ชาวบ้านจะนำเอาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง หลังจากที่ทำมาได้๒ ปี ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชีหยวนที่มาในชุดอันสวยงาม กล่าวขอบคุณเหล่าชาวบ้านที่นำเอาอาหารไปโปรยให้เพื่อเซ่นไหว้ แต่เขาบอกว่าอาหารที่เหล่าชาวบ้านนำไปโปรยเพื่อเป็นเครื่องเซ่นถูกเหล่าสัตว์น้ำกินเสียจนหมดเกลี้ยง เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่มากมาย ชีหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่ หรือใบจากก่อนนำไปโยนลงน้ำ เพื่อที่เหล่าสัตว์น้ำจะได้นึกว่าเป็นต้นไม้อะไรสักอย่าง จะได้ไม่กินเข้าไป

หลังจากนั้นในปีต่อมา ชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชีหยวนแนะนำ คือนำอาหารห่อด้วยใบไผ่ไปโยนลงน้ำเพื่อเซ่นให้แก่ชีหยวน หลังจากวันนั้นชีหยวนก็ได้มาเข้าฝันชาวบ้านอีก ว่าคราวนี้ได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังคงโดนสัตว์น้ำแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชีหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นให้อย่างอิ่มหนำสำราญจึงได้ถามชีหยวนว่าควรทำเช่นไรดี ชีหยวนจึงแนะนำอีกว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลงแม่น้ำ ให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกรไป เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายได้เห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพญามังกร จะได้ไม่กล้าเข้ามากิน

บ๊ะจ่าง จึงถือกำเนิดขึ้น
ในสำเนียงฮกเกี้ยน หรือ โร่วจ้ง ตามสำเนียงกลาง (จีน: 肉粽; พินอิน: Ròu Zòng) บ้างเรียก ขนมจ้าง เป็นชื่ออาหารคาวของจีนชนิดหนึ่ง ทำด้วยข้าวเหนียวนำมาผัดน้ำมัน มีไส้หมูเค็มหรือหมูพะโล้ กุนเชียง ไข่เค็มเฉพาะไข่แดง กุ้งแห้ง เห็ดหอม เป็นต้น ห่อด้วยใบไผ่แล้วนึ่งให้สุก

นอกจากนี้ยังมีบ๊ะจ่างที่ไม่มีไส้ เรียกว่า กี่จ่าง (栀粽) หรือ ขนมจ้างจืด ใช้จิ้มกินกับน้ำตาล......ไม่ว่าแบบไหนก็ทานกันให้อร่อยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากวิกีพีเดีย
ขอบคุณค่ะ#zodietcwise และฝากอ่านเรื่องต่างๆในบล็อกด้วยค่ะ

หากสนใจดูดวง อินบ็อกซ์มาได้เลยค่ะ หรือจะนัดให้ทำนายทางไลน์ก็ได้ค่ะ https://line.me/ti/p/DxUHcrL7-M
ขอบคุณวิชาโหราศาสตร์และข้อมูลจากตำราอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร, อาจารย์ศ.ดุสิต,อาจารย์พันเอก(พิเศษ)เอื้อน มนเทียรทอง,อาจารย์ดำริห์ ไตรรัตน์ รวมทั้งหลายท่านอาจารย์และบรมครูโหราศาสตร์ที่ได้เอ่ยนามแล้วและไม่ได้เอ่ยนามด้วยความเคารพอย่างสูงไว้ณที่นี้





ความคิดเห็น