อัฐเคราะห์เปรียบเทียบ
คำว่า" อัฐเคราะห์ "หมายถึงดาวนพเคราะห์๘ดวง ได้แก่ อาทิตย์๑ กำลังเป็น๖, จันทร์๒ กำลังเป็น ๑๕, อังคาร๓ กำลังเป็น ๘, พุธ๔ กำลังเป็น ๑๗, พฤหัสบดี๕ กำลังเป็น ๑๙ , ศุกร์๖ กำลังเป็น ๒๑, เสาร์๗ กำลังเป็น๑๐, ราหู๘ กำลังเป็น ๑๒ ซึ่งมีกำลังรวมเป็น ๑๐๘
อัฐเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อเป็นประโยชน์ของนักพยากรณ์ ขอนำเสนอเป็นภาพของต้นไม้ค่ะ
ลัคนา เปรียบเสมือน ต้นไม้
อาทิตย์ เปรียบเสมือน รากไม้
จันทร์ เปรียบเสมือน แก่นไม้
อังคาร เปรียบเสมือน ใบไม้
พุธ เปรียบเสมือน ดอกไม้
พฤหัสบดี เปรียบเสมือน ลูกไม้
ศุกร์ เปรียบเสมือนกระพี้เปลือกไม้
เสาร์ เปรียบเสมือน สาขากิ่งก้านไม้
ราหูเปรียบเสมือน ด้วงหรือมอดกัดไชขอนไม้
อธิบายโดยนัยยะก็คือ
-อาทิตย์ ได้แก่ภูมิฐานที่ยึดเหนี่ยว
-จันทร์ ได้แก่ศฤงคาร บริวารยศศักดิ์มั่นคง
-อังคาร ได้แก่ เครื่องอุปโภคบริโภค ตกแต่งร่มเงา
-พุธ ได้แก่ เครื่องประดับประดาและบริวาร
-พฤหัสบดี ได้แก่ สิ่งอันดีที่ได้อาศัยแก่ญาติเป็นที่พึ่งแก่คนทั้งหลาย
-ศุกร์ ได้แก่ ผู้ใหญ่ท้าวพระยาอันโอบอ้อมบำรุงรักษา
-เสาร์ ได้แก่ ร่มเย็นแผ่ไป พวกพ้องวงวารยศศักดิ์
-ราหู ได้แก่ โรคและศัตรูอันเบียดเบียนท่านให้โทษแก่ท่าน (มีแนวโน้มว่าพระเคราะห์องค์ใดจะพาให้พระเคราะห์องค์นั้นให้เสีย แม้ว่าพระเคราะห์องค์นั้นเป็นอุจจ์,เกษตร,อุจจาวิลาส,ราชาโชคก็ย่อมจะเกิดภัยภายหลังต้องพิจารณาอย่างลึกซึ้งและรอบคอบก่อนทำนาย)
ดาวนพเคราะห์ หมายถึง ดาวทั้ง ๙โดยรวมเอาพระเกตุ๙ กำลังเป็น ๙ มารวมด้วยและกำลังเป็น๑๑๗
ส่วนกำลังดาวพระเคราะห์นั้นมีคำโคลงกลอนว่าเพื่อการจดจำดังนี้คือ
อาทิตย์หกต่อตั้ง พรรษา
จันทร์สิบห้าคณนา นับไว้
อังคารแปดพุธา สิบเจ็ด
เสาร์สิบกำหนดให้ โลกรู้กำลัง
พฤหัสบดีสิบเก้า สืบสนอง
อสุรินทร์สิบสอง เช่นนี้
ศุกร์ยี่สิบเอ็ดละบอง พระเกตุเก้านา
เทวเทพเคราะห์นี้ ท่านเลี้ยงรักษาฯ
พระเคราะห์แสดงกุศล-อกุศล
ในประเด็นนี้ต้องพิจารณาเริ่มจากธาตุทั้งสี่ นั้นไฟ(เตโช), ดิน(ปฐวี), ลม(วาโย),และ น้ำ (อาโป) จะเรียก ธาตุไฟกับลมว่าเป็นอกุศลธาตุถือเป็นไฟฟ้าบวก ส่วนธาตุดินกับน้ำเป็นกุศลธาตุถือเป็นไฟฟ้าลบ โดยให้ถือว่าอาทิตย์๑, อังคาร๓,เสาร์๗และราหู๘ เรียกว่า "บาปเคราะห์" ส่วน จันทร์๒, พุธ๔, พฤหัสบดี๕ และศุกร์๖ เรียกว่า "สมเคราะห์" หรือปัจจุบันเรียกว่า "ศุภเคราะห์" แต่ก็มีข้อแม้เพิ่มเติมว่าสำหรับสมเคราะห์จันทร์๒และพุธ๔ นั้นอาจจะแปรเป็นสภาพบาปเคราะห์ได้ ในขณะที่จันทร์นั้นไม่มีแสงคือระยะ แรม๘ค่ำจนถึงขึ้น๘ค่ำ ทั้งนี้ก็โดยที่อาศัยเหตุผลว่าจันทร์โคจรอยู่ใกล้พระอาทิตย์ทำให้จันทร์ดับแสง ส่วนดาวพุธนั้นถ้าร่วมด้วยกับบาปเคราะห์ก็จะแปรสภาพเป็นบาปเคราะห์ไปด้วย ฉะนั้นดาวสมเคราะห์หรือศุภเคราะห์ที่แท้จริงมีเพียงดาวพฤหัสบดี๕ และศุกร์๖ เท่านั้น
ดาวบาปเคราะห์แสดงอิทธิพลในอกุศลใช้อำนาจพระเดช ส่วนดาวศุภคราะห์แสดงอิทธิพลในทางกุศลใช้อำนาจด้วยพระคุณ โดยดาวบาปเคราะห์จะเป็นประเภทที่ให้โทษแก่ชะตามากกว่าให้คุณ หมายความว่ามิได้แสดงอิทธิพลในทางลบเสมอไป อาจจะให้คุณดีเด่นได้ ดาวศุภเคราะห์จะเป็นประเภทที่ให้คุณแก่ชะตามากกว่าให้โทษ แต่ก็อาจให้โทษได้แล้วแต่ตำแหน่งในชะตา และทางทักษา
และเมื่อพูดถึงในแง่ความเป็นกุศลธาตุและอกุศลธาตุแล้ว กุศลธาตุจะเป็นที่บรรเทาอกุศลธาตุคือลบโต้กันเองในตัว เมื่อเรียงให้เต็มและดูอุตตราวรรตน์(เวียนซ้าย) จะปราบกันเป็นคู่ๆคือ ไฟ-น้ำ,ลม-ดิน โดยเป็นความเชื่อที่ว่าอันน้ำระงับไฟอยู่ และอันดินคอยกั้นลมเช่นเป็นภูเขาหรืต้นไม้ ดังนั้นหากดูเรื่องกำลังตามคู่ธาตุจะเป็นดังนี้
พระเคราะห์คู่ธาตุไฟ คือดาวอาทิตย์ กำลัง๖ ดาวเสาร์ กำลัง ๑๐ รวมกำลัง เท่ากับ๑๖,
พระเคราะห์คู่ธาตุดิน คือ ดาวจันทร์ กำลัง ๑๕ ดาวพฤหัสบดี กำลัง ๑๙ รวมกำลัง เท่ากับ ๓๔,
พระเคราะห์คู่ธาตุลมคือ ดาวอังคาร กำลัง ๘ ดาวราหู กำลัง๑๒ รวมกำลังเท่ากับ ๒๐
และ พระเคราะห์คู่ธาตุน้ำคือ ดาวพุธ กำลัง ๑๗ ดาวศุกร์ กำลัง ๒๑ รวมกำลังเท่ากับ๓๘ รวมเป็น ๑๐๘ และเรียกว่าอสีติธาตุ
อาจารย์เทพ สาริกบุตรท่านกล่าวไว้ว่า พระเคราะห์ทั้งปวงใช้เป็นประโยชน์ในการบอกถึงเหตุการ์ต่างๆทั่วไปในชีวิตมนุษย์ ชี้บอกทางดำเนินแห่งตนนับแต่เกิดจนตาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น