จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย

" จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)  
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิต เป็นมรรค (วิธีปฎิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์) 
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตเป็นนิโรธ(ความดับทุกข์)  "

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่มาจากหนังสือหลวงปู่ฝากไว้


จิตที่ส่งออกนอกหรือส่งจิตออกนอก ซึ่งเป็นสมุทัย คือเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นหมายถึงขณะที่สติขาดจึงหลงคิดปรุงแต่ง หรือหลงส่งจิตออกนอกกายหรือส่งจิตออกนอกจากปัจจุบันไปยึดถือ สนใจ ให้ค่า พอใจหรือไม่พอใจหรือเพลินใจติดไปกับสิ่งที่ถูกรู้คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ(สัมผัส) หรือธรรมารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) 

ส่วนใหญ่เมื่อสติขาดจะส่งจิตออกนอกไปยึดถือให้ความสนใจอาการทางกายหรืออาการทางใจอาการใดไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ พยายามดิ้นรนผลักไส อาการใดถูกใจก็อยากให้เป็นอย่างนั้นตลอดไป ไม่อยากให้เกิดอาการที่ไม่สบายกาย ไม่สบายใจจึงมีความดิ้นรนทะยานอยาก(ตัณหา)ให้เดือดเนื้อร้อนใจเป็นทุกข์ใจไม่สบายใจคับแค้นใจ หรือสติขาดจะส่งจิตออกนอกไปยึดถือให้ความสนใจให้ความสำคัญต่อบุตร หลาน สามี ภรรยา บิดามารดา คนรอบตัวหรือคนที่รักไปช่วยเขาคิดแทนเขา อย่างนี้อย่างนั้นมีความทุกข์ความห่วงใยกังวลกับเขาตลอดเวลา

ซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนนี้จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในขณะจิตที่ สติ ขาด จึงหลงปรุงแต่งหรือหลงส่งจิตออกนอกกายหรือส่งจิตออกจากปัจจุบันเท่านั้น สติขาดจึงทำให้ไม่เห็นตัวคิด เมื่อไม่เห็นตัวคิดก็จะหลงคิดหรือหลงส่งจิตออกนอก จึงไปกับความคิด 

ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด หรือทำกิจการงานใดจึงต้องให้มี สติตั้งที่ใจ รู้ที่ใจคือ นอกจากรู้เรื่องที่กำลังทำในปัจจุบันแล้ว จะต้องให้เห็นจิตที่กำลังคิดหรือจิตที่กำลังส่งออกนอกกายหรือส่งออกนอกจากสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน  

ส่วนจิตเห็นจิตนั้นเป็นมรรคคือวิธีปฎิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์และผล อันเกิดจากจิตเห็นจิตจะเป็นนิโรธคือความดับทุกข์ คือเมื่อสติไม่ขาด นอกจากจะรู้เรื่องสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็ต้องรู้จิตทุกคิดและทุกอาการอย่างตรงไปตรงมาตามที่มันเป็นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย 

จิตดีก็รู้ จิตไม่ดีก็รู้ จิตเป็นเป็นบุญก็รู้ จิตเป็นบาปก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ จิตเป็นสุขก็รู้ จิตเป็นทุกข์ก็รู้ จิตแทรกแซง กด ข่ม บังคับผลักไสก็รู้ จิตพอใจ ไม่พอใจเป็นราคะ ความโล ความโกรธก็รู้หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ลังเล สงสัย วิตกกังวล ซึมๆเซาๆก็รู้  

จิตไปสนใจให้ค่าให้ความสำคัญต่อคนใดหรือสิ่งใดก็รู้ จิตจะเป็นอย่างไรหรือมีอาการเป็นอย่างไรเป็นธรรมชาติของธาตุรู้ คือรู้แล้วถ้าตามใจจะเป็นกิเลสตัณหา ถ้ารู้แล้วยอมรับตามความเป็นจริง ช่างมัน ช่างมันตะพึดตะพือ ทั้งไม่ห้ามและไม่หลงติดไป ก็จะเป็นธรรมชาติรู้ ซึ่งเป็นธรรมหรือเป็นนิพพานธาตุ 

หากไม่มีการปรุงแต่งโดยเรา จิตก็จะเกิดดับไปตามธรรมชาติไม่มีผู้เสวย ไม่มีตัวเราเข้าไปมีส่วนได้เสียเท่ากับปล่องวางตัวเอง โดยไม่ได้เอาตัวเองไปพยายามปล่อยวางอะไรอีกต่อไป แม้กายและจิตจะเคลื่อนไหว จะคิด หรือแสดงอาการอย่างใด 

ใจของท่านจะมีแต่ความว่าง (ใจเป็นธาตุรู้ซึ่งเป็นความว่างหรือนิพพานธาตุ หรือสุญญตา ไม่ใช่ความรู้สึกว่างซึ่งเป็นสุขเวทนาหรือธรรมารมณ์ที่ถูกรู้ได้ด้วยใจ

บางส่วนเรียบเรียงจากหนังสือจบที่ใจ,ผู้จัดทำหนังสือชมรมผู้ปฎิบัติธรรมสำนักงานศาลยุติธรรม ขอขอบคุณไว้ณที่นี้ ค่ะ

สนใจปรึกษาดวงชะตาติดต่อหรือแจ้งมา ทางไลน์ได้ค่ะ
ขอบคุณผู้อ่านค่ะ ฝากติดตามอ่าน บล็อกนี้ https://zodietcwise.blogspot.com
และ กดชอบใจเพจ facebook: zodietcwsie ด้วยค่ะ



ความคิดเห็น